ช่วงนี้เราจะเริ่มได้ยินตัวแทนพูดถึงประกันแบบควบการลงทุน…หรือที่เรียกสั้นๆว่า Unit Link วันนี้ผมเลยจะมาเล่าให้พวกเราฟังกันซักหน่อย อาจจะยาวนิดแต่ดีแน่เชื่อผมเถอะ…
1. เป็นแบบประกันที่จ่ายเบี้ยตลอดชีพ
จ่ายคงที่กันไปจนถึงอายุ 99 หรือถ้าไม่อยากจ่ายตลอดชีพก็อาจจะต้องลุ้นว่า…มูลค่าหน่วยลงทุนและเบี้ยต่อปีที่เราจ่ายเข้าไป
มันจะพอกับค่าใช้จ่ายประกันชีวิตในช่วงอายุนั้นๆ…หรือเปล่า (ซึ่งยิ่งอายุมาก ยิ่งสูงสุดๆ สูงโคตรๆ ไม่รู้มีใครเคยบอกไว้มั้ย?)
ถ้าเงินจากหน่วยลงทุนหมดเมื่อไหร่ แบบประกันก็จะถูกปิดและไม่เหลือมูลค่าอะไร เพราะเงินในส่วนลงทุนก็ถูกเอาไปจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนประกันชีวิตหมดแล้ว 😅
ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราคาดว่าผลตอบแทนต่อปีจากการลงทุนจะเป็นเท่าไหร่ ลุ้นไปกันจ๊ะ…
2. จบแล้วอาจไม่เหลือมูลค่าได้
ประกันแบบ Traditional เช่น Whole Life เราจะรู้เลยว่าเราจ่ายเบี้ยกี่ปี และพอครบสัญญาแล้วจะได้เงินเท่าไหร่แบบชัวร์ๆตัวเลขเป๊ะๆ
หรือหากเราจะเวรคืนกรมธรรม์เพื่อจะเอาเงินคืนระหว่างทาง เราก็จะเห็นตัวเลขเป๊ะๆที่จะได้รับเช่นกัน ว่าปิดกรมธรรม์ตอนอายุไหนได้เงินเท่าไหร่(ซึ่งผมไม่ค่อยแนะนำให้ปิดนะครับ…เสียดาย)
แต่สำหรับ Unit Link วันที่มูลค่าหน่วยลงทุน ถูกค่าใช้จ่ายในการประกันชีวิตหักออกไปจนหมดไม่เหลือเมื่อไหร่ เมื่อนั้นกรมธรรม์จะถูกปิดลงหมดความคุ้มครอง และไม่เหลือเงินใดๆคืนกลับมาครับ
3. อย่าลืมดูค่าธรรมเนียมปีแรกๆ
ในช่วง 5-6 ปีแรก แล้วแต่แบบประกัน จะมีการหักค่าธรรมเนียมจากเบี้ยประกันทั้งหมด
นั่นแปลว่าทั้งส่วนที่เราไปจ่ายคุ้มครองชีวิต และเงินที่จะเอาไปซื้อหน่วยลงทุนก็ถูกหักไปด้วย ซึ่งมีเขียนอยู่ในเอกสารของแบบประกันนั้นๆ อย่าลืมดูกันนะครับ…
ตัวค่าธรรมเนียม จะสูงมากในปีแรกๆ เช่น ปีแรกหัก 60% และลดลงมาเรื่อยๆ เป็น 40% 20% ตามลำดับ แต่หลังจาก ปีที่ 6-7(แล้วแต่แบบประกัน) ก็จะไม่มีเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้อีก ช่วงแรกๆ จะถือว่าหนักหน่อยเลยทีเดียว
แตกต่างจากการที่เราเอางบก้อนเดียวกันที่ตั้งใจจะซื้อ Unit Link แต่แบ่งเอาไปซื้อประกันแบบ Term Life หรือ Whole Life หนึ่งก้อน
ส่วนอีกก้อนนึงเอาไปซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมแยกต่างหาก วิธีนี้จะทำให้เงินทุนของเราส่วนนี้ไม่ได้ถูกหักค่าธรรมเนียมไปด้วยครับ…
ดังนั้นตัวแทนจึงควรจะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียตรงจุดนี้
ถ้าลูกค้ายอมรับการถูกหักเงินต้นในส่วนที่เอาไปลงทุนระดับ 50-60% ในช่วงแรกๆได้ ก็จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันในภายหลังครับ เห็นตีกันมาหลายคนแล้ว จากการไม่เข้าใจในจุดนี้ 😅
4. ใช้เวลามากกว่า…ที่ผลตอบแทนเท่ากัน
เรื่องนี้อาจจะคณิตศาสตร์นิดๆ แต่สรุปในมุมนึงที่ง่ายๆว่า ถ้าเราอยากให้เงินลงทุนโตขึ้น 1 เท่าตัว
ให้เราเอาอัตราดอกเบี้ยต่อปี (หรือผลตอบแทนต่อปี) ไปหารจากเลข 72 แล้วเราจะได้จำนวนปีที่เงินของเราจะโตขึ้น 1 เท่า
ดังนั้นถ้าเราดูข้อ 3 เงินต้นปีแรกที่เราถูกหักค่าธรรมเนียมไป 60% แล้วจะทำให้มันโตกลับมาเพื่อเอาแค่ระดับเท่าทุน(นับเฉพาะส่วนที่เงินไปลงทุนด้วยนะฮะ)
อาจจะต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ที่อัตราผลตอบแทนถึง 12% ต่อปี(ซึ่งไม่ได้ง่ายนัก) ส่วนเงินต้นปีหลังๆ ที่ถูกหักน้อยลงมาก็รอน้อยปีหน่อยที่เงินก้อนนั้นจะเท่าทุน
ส่วนตัว…ผมเลยรู้สึกว่าเสียเปรียบเมื่อเทียบกับการที่เราจะเอาเงินก้อนนึงแยกไปลงทุนในกองทุนเองอยู่พอสมควร
เพราะเงินต้น 100 บาท ไปลงทุนในกองทุน เงินเราอยู่แทบจะเต็มจำนวน(มีค่าธรรมเนียมซื้อขายไม่มากนัก) แต่ถ้าเงินต้น 100 บาท ที่อยู่กับ Unit Link ปีแรก เงินลงทุนจะเหลืออยู่แค่ราว 40 บาท
ด้วยเงินต้นที่ต่างกันขนาดนี้ การแข่งเรื่องผลตอบแทนไม่ต้องสืบเพราะดันไปต่อให้เค้าก่อน ในส่วนของเงินต้นช่วงปีแรกๆ…
แม้ว่าหลังจากปีที่ 6 หรือ 7 (แล้วแต่แบบประกันของบริษัท) จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ก็ตามแต่ทำไมเราต้องเสียเงินต้นปีที่ 1-5 ไปบางส่วนให้เสียเปรียบด้วยล่ะ
ยกเว้นว่าลูกค้าจะเข้าใจและยอมรับว่าเออก็สะดวกดี เสียประมาณนี้รับได้ให้เค้าไปจัดการแหละ แบบนี้โอเค เข้าใจตรงกัน 😅
5. มีความคล่องตัวในการลงทุนต่ำกว่า
เงินที่เราแยกออกมาลงทุนเอง ไม่ว่าจะผ่านกองทุนรวมหรือหุ้น เราสามารถเลือกลงทุนได้จากหลากหลายหุ้นหรือกองทุนไม่จำกัด เรียกว่ามีให้เลือกเป็นอนันต์…
แถมซื้อๆขายๆได้ตลอดเวลา และไม่กระทบกับความคุ้มครองชีวิตของเราแต่อย่างใด เนื่องจากเราแยกกันไวัชัดเจน…
6. อาจจะไม่เหมาะกับทุกคน
ผมไม่ได้บอกว่าตัวแบบประกัน Unit Link ไม่ดี แค่อยากจะบอกว่าก่อนซื้อขอให้ลูกค้าเข้าใจในเรื่องพวกนี้ให้เรียบร้อยก่อน
เพราะมันไม่ได้เหมาะกับทุกคน จะได้ไม่ต้องมาตีกันในภายหลังเนื่องจากความไม่เข้าใจตอนก่อนซื้อ เนื่องจากได้ฟังเพียงบางมุมเท่านั้น…
แต่ถ้าแบบประกันนี้ไม่มีข้อดีเลย บริษัทก็คงจะไม่ทำออกมา ดังนั้นมีข้อดีอยู่แน่นอนครับ ซึ่งผมก็เคยคุยกับลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจแบบประกันนี้เป็นอย่างดี
รวมถึงใช้แบบประกัน Unit Link วางแผน Money Management & Risk Management ได้อย่างมีประโยชน์
บทสรุปของเรื่องนี้…
ถ้าหากเราวางแผนเงินดีๆ สามารถแยกเงินก้อนนึงไปซื้อประกันชีวิตแบบ Term Life หรือจริงๆ แบบ Whole Life ที่มีเงินคืนตอนครบสัญญาก็ได้
แล้วเอาเงินอีกก้อนนึงไปลงทุนเองในกองทุนรวมหรือหุ้น พอเงินลงทุนเติบโตได้ปันผลทุกปี เราก็สามารถใช้เงินก้อนนี้เอามาจ่ายเบี้ยประกันชีวิตหรือสุขภาพได้เช่นกัน
แถมมันก็ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด เพราะส่วนประกันชีวิตก็ซื้อกับตัวแทน และในส่วนกองทุนหรือหุ้น ก็ซื้อผ่านบริษัทลูกของธนาคาร หรือบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ ตามห้างและออฟฟิศทั่วไปได้ง่ายๆครับ
แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเลือกทำประกัน Unit Link หรือแบบไหนๆ ก็ควรจะรีบวางแผนทำประกันตั้งแต่ตอนที่ยังทำได้กันเถอะครับ จะได้คุ้มครองทั้งตัวเองและคนที่เรารัก
เพราะประกันเป็นสินค้าที่ลองใช้ก่อนไม่ได้ การเลือกบริษัทที่มั่นคง และมีทรัพย์สินที่นับเฉพาะในไทยสูงที่สุด ก็ยิ่งอุ่นใจ
สอบถามพูดคุยกับผม
หากมีข้อสงสัย อยากสอบถามเพิ่มเติมสามารถเข้ากลุ่ม LINE “เลือกประกันอย่างฉลาด” ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
เข้ากลุ่ม LINE เลือกประกันอย่างฉลาด
Coach Champ
#AIA #MDRT #เครือขุนพล